การแข่งขันรุนแรงขึ้นในตลาดพื้นที่ค้าปลีกกรุงเทพฯ

ปัจจุบันการแข่งขันใน ตลาดพื้นที่ค้า ปลีกของกรุงเทพมหานครกำลังรุนแรงมากขึ้นระหว่างร้านค้าที่มีหน้าร้านและร้านค้าออนไลน์จากการที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตขึ้น และระหว่างร้านค้าที่มีหน้าร้านด้วยกันเองจากการที่ผู้พัฒนาโครงการสร้างศูนย์การค้าใหม่

อี-คอมเมิร์ซกำลังเป็นสิ่งที่ท้าทายร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมทั่วทุกมุมโลก รวมถึงประเทศไทย ในปัจจุบัน อี-คอมเมิร์ซมีส่วนแบ่งในยอดค้าปลีกโดยรวมในประเทศไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ซีบีอาร์อีคาดว่าแนวโน้มนี้จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสหราชอาณาจักร 18% ของยอดค้าปลีกในปัจจุบันมาจากออนไลน์ มากกว่าการซื้อจากร้านค้าแบบดั้งเดิม

ผู้เช่าร้านค้าปลีกทั่วโลกต่างกำลังขยายช่องทางการขายให้มีความหลากหลายมากขึ้น (ออมนิ-แชนแนล) ทั้งแบบขายผ่านออนไลน์และขายออฟไลน์ในร้านค้าแบบปกติ ซึ่งในหลายแห่งได้นำไปสู่เหตุผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพอร์ตการค้าปลีกและการลดจำนวนหน้าร้านลง

ในกรุงเทพฯ สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของโครงการค้าปลีกมิได้มาจากการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากพื้นที่ค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากการสำรวจโดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ค้าปลีกมากกว่า 600,000 ตารางเมตรที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยมาจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่เป็นหลัก เช่น เอ็มสเฟียร์ แบงค็อก มอลล์ และวัน แบงค็อก นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การค้าใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการวางแผนและจะเริ่มการก่อสร้างในไม่ช้า เช่น การพัฒนาพื้นที่โรงแรมดุสิตธานีขึ้นใหม่

ปริมาณพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานคร แบ่งตามทำเล

การแข่งขันจะเริ่มรุนแรงมากขึ้นและเจ้าของโครงการค้าปลีกจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อความอยู่รอด แผนกวิจัย ซีบีอาร์อีมองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรูปแบบการดำเนินธุรกิจค้าปลีก

ในอดีต เจ้าของโครงการค้าปลีกปล่อยเช่าพื้นที่ด้วยสัญญาที่มีระยะเวลา 3 ปีและเก็บค่าเช่ารายเดือน เจ้าของโครงการกำหนดค่าเช่าตามความสามารถของผู้เช่าในการจ่ายค่าเช่าตามประเภทธุรกิจ ขนาดของร้านค้า ชั้นในอาคาร และทำเลที่ตั้งภายในชั้น โดยเจ้าของโครงการพยายามที่จะเก็บค่าเช่าให้ได้มากที่สุดเท่าที่ผู้เช่าจะสามารถจ่ายได้ และผู้เช่ามีภาระผูกพันด้วยค่าเช่าแบบคงที่และรับความเสี่ยงทางธุรกิจที่ค่อนข้างมาก

แต่ในปัจจุบันรูปแบบการดำเนินธุรกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไป ผู้เช่าต้องการให้เจ้าของโครงการค้าปลีกร่วมรับความเสี่ยงด้วยโดยคำนวนค่าเช่าตามสัดส่วนรายได้ของผู้เช่า ซึ่งในประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะค่าเช่าจากกำไรขั้นต้นหรือ GP

เจ้าของโครงการและผู้เช่าจะได้รับประโยชน์หากธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี แต่จะได้รับผลกระทบหากธุรกิจประสบปัญหา โดยที่เจ้าของโครงการไม่เพียงต้องรับความเสี่ยงในด้านการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามายังศูนย์การค้า แต่ยังรวมถึงด้านความสำเร็จในการทำธุรกิจของผู้เช่า

ในปัจจุบันเป็นที่คาดหวังว่าเจ้าของโครงการไม่เพียงแต่ให้เช่าพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องให้ข้อมูลและเป็นนักวิเคราะห์อีกด้วย ผู้เช่าต้องการให้เจ้าของโครงการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนคนและความถี่ที่เดินทางเข้าในศูนย์การค้า รวมถึงสิ่งที่ลูกค้าจับจ่ายใช้สอยและรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย

ผู้เช่าต่างมีความต้องการในเรื่องปริมาณและคุณภาพของข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าของโครงการค้าปลีกมากขึ้น เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับลูกค้าของศูนย์การค้ามากที่สุด

ในยุคของอี-คอมเมิร์ซ เจ้าของโครงการจะต้องดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาเดินในศูนย์การค้า ไม่ใช่แค่ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เท่านั้น

การเพิ่มจำนวนร้านอาหารที่สามารถ “สร้างประสบการณ์” ให้แก่ลูกค้านับเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ร้านอาหารนั้นก็ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าในระดับเดียวกันกับร้านค้าที่เป็นแบรนด์หรูได้

นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “การสร้างโอกาสด้วยการมีร้านค้าแบบชั่วคราวหรือป๊อปอัปเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ใหม่ที่ทำให้ลูกค้ามีเหตุผลที่จะเดินทางไปศูนย์การค้า เพราะลูกค้าจะไม่สามารถหาสินค้าหรือได้รับประสบการณ์ได้จากที่อื่นหรือในเวลาอื่น”

“การปฏิวัติในวงการค้าปลีกด้วยอี-คอมเมิร์ซและการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากพื้นที่ค้าปลีกใหม่ๆ นั้นหมายความว่า เจ้าของโครงการจะต้องมีความรอบรู้มากขึ้นในสิ่งที่นำเสนอ ทั้งในแง่ของรูปแบบศูนย์การค้าและข้อมูล”

และนี่คือเหตุผลที่ทำให้การพัฒนาโครงการค้าปลีกเป็นหนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีความซับซ้อนมากที่สุด ทั้งยากกว่าและมีความต้องการมากกว่าตลาดพื้นที่สำนักงานอยู่มาก

ในตลาดค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้จะมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ จะมีศูนย์การค้าที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลว และมีไม่มากนักที่จะมีผลการดำเนินงานที่อยู่ระหว่างกลาง

ติดตามเราได้ที่ : facebook

ติดต่อสอบถาม : Contact