พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กับโอกาสในการกู้ร่วม เพื่อเป็นเจ้าของบ้านร่วมกันของกลุ่ม LGBTQIA+

ตอนนี้ก็เห็นจะมีข่าวดีรับ “Pride Month’ แล้วนะครับที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต หรือการร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม นี่ถือว่าเป็นอีกโอกาสที่จะทำให้กลุ่ม LGBTQIA+ ได้รับสิทธิทางกฎหมายเพิ่มขึ้นในหลายๆด้านครับ แม้จะมีความคลุมเครือในเรื่องเนื้อหาทางกฎหมายด้านสิทธิและสวัสดิการบางอย่างอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ หนึ่งในโอกาสที่จะเปิดกว้างแก่คนกลุ่ม LGBTQIA+ ที่น่าสนใจคือ การเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินประเภทที่อยู่อาศัย หรือการกู้ร่วมนั่นเองครับ

การเริ่มต้นจะสร้างครอบครัว สิ่งที่สำคัญเป็นดับแรกก็คงหนีไม่พ้นการมีที่อยู่อาศัยอย่างเช่นบ้านหรือคอนโดครับ ปัจจุบันก็มีธนาคารบางแห่งที่อนุมัติสินเชื่อบ้านการกู้ร่วมให้กับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศบ้างแล้ว แต่คาดว่าการร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ เปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ ยื่นกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกันในวงเงินที่สูงขึ้น และเลือกบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากขึ้น ให้เหมือนกับคู่รักชายหญิงครับ โดยก่อนหน้านี้ธนาคารและสถาบันทางการเงินหลายแห่งไม่สามารถให้สินเชื่อผู้กู้ร่วมกลุ่ม LGBTQIA+ โดยให้เหตุผลว่าผู้กู้ร่วมต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิด เช่น เชื้อสายเดียวกัน หรือชายหญิงที่สมรสกันนั่นเองครับ ทำให้บางทีคู่รัก LGBTQIA+ ต้องลำบากกับการขอสินเชื่อประเภทอื่นแทน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็สูงกว่า และยังให้ระยะเวลาผ่อนน้อยกว่ามากด้วย หรือบางธนาคารก็ให้กู้ได้ แต่รายละเอียดบางอย่างก็ยังแตกต่างจากการกู้ร่วมของคู่รักชายหญิงนั่นเองครับ ​

ปัจจุบันมีหลายธนาคารที่คู่รัก LGBTQIA+ กู้ร่วมซื้อบ้านได้ โดยรายละเอียดคือต้องมีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป มีรายได้ที่มั่นคง รายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไปทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมครับ บางธนาคารผู้กู้หลักต้องมีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไปครับ โดยพนักงานประจำต้องมีอายุงานมากกว่า 2 ปีขึ้นไป บางธนาคารก็ไม่กำหนดครับ และผู้กู้ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานการอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 1 ปี เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน หรือบัญชีธนาคารที่เปิดร่วมกัน แต่บางธนาคารก็ไม่กำหนดครับ​

ยังไงก็ต้องรอความชัดเจนของการร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต และพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมกันต่อไปครับ ว่าจะเปิดโอกาสอะไรให้กลุ่ม LGBTQIA+ บ้าง ก็หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะทำให้สังคมไทยเรามีความเสมอภาคทางเพศมากขึ้นครับ

Source : DDproperty​

#livingsneakpeek #SneakInfo #lgbtqia #พรบสมรสเท่าเทียม