ชม ‘โรงงาน Precast’ ของแสนสิริ เน้นความ Green เป็นหลัก ที่ Waste แทบจะเป็นศูนย์ แห่งแรกและแห่งเดียวในไทย

ผมได้มีโอกาสเข้าไปชมโรงงาน Precast (พรีคาสท์) ของแสนสิริ ที่เค้าก็ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 ก็ดำเนินการมา 10 ปีแล้วล่ะ อยู่ที่ลำลูกกา คลอง 10 บนพื้นที่ 107 ไร่ มีทั้งหมด 4 โรงงาน ประกอบด้วยโรงงาน 1,3 ที่ผลิตผนังพรีคาสท์สำหรับบ้าน และโรงงาน 2,4 ผลิตพรีคาสท์ชิ้นอื่นๆอย่าง คาน, พื้น, บันไดหรือฟาซาด ซึ่งที่นี่เค้าจะเน้นรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มีการใช้ Solar Roof ในโรงงาน และเค้ามีการจัดการที่ดี ทำให้ waste หรือของเสียจากอุตสาหกรรมเหลือเพียง 2% ซึ่งมันทำได้ยากมากนะครับ ถ้าพูดถึงการทำโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ผลิตอะไรทีละมากๆ แต่เค้าทำได้ยังไง เดี๋ยวผมพาไปดู

ก่อนอื่นเผื่อหลายคนยังไม่รู้ Precast คือแผ่นผนังคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้ในการก่อสร้าง ที่เข้ามาแทนการก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป ซึ่งจะมีความแข็งแรงทนทาน ออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักตัวบ้านแทนเสาได้เลย ข้อดีคือย่นระยะเวลาการก่อสร้างได้เยอะ เพราะผลิตสำเร็จรูปมาจากโรงงาน และมีมาตรฐานสูง ควบคุมคุณภาพได้ จากที่การก่ออิฐฉาบปูนที่หน้างาน เราจะต้องเน้นฝีมือช่างหรือแรงงานแต่ละคน ทำให้อาจมีข้อผิดพลาดได้ อีกทั้งยังอาจมีปัญหาเรื่องอากาศลมฝนเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ส่วนข้อจำกัดของพรีคาสท์ก็คือการจะเจาะช่องหรือทุบผนังเปลี่ยนเลย์เอาท์บ้านอาจจะทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย ต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ แต่ถ้าเจาะแขวนรูป แขวนตู้คือทำได้ปกติครับ แต่จะง่ายกว่าถ้าหาช่างหรืออุปกรณ์เฉพาะได้

เมื่อเข้าไปในโรงงาน สิ่งแรกที่ผมรู้สึกคือที่นี่เป็นโรงงานที่ไม่มีฝุ่น ไม่มีควัน หรือมลภาวะทางเสียงเลย และจะเห็นได้ตามรูปคือสะอาดมากเหมือนเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ผมว้าวเลยครับ ถัดไปก็จะได้ดูกระบวนการทำ เค้าจะแยกเป็น Station ไปครับ เริ่มจากโซนทำความสะอาดโต๊ะที่จะใช้วางแผ่นผนัง >> ถัดมาเป็นโซนโรบอตวางชิ้นงานเพื่อสร้างบล็อค โดยจะมีแม่แบบอยู่แล้วครับว่าผนังนี้จะใช้กับส่วนไหน โซนนี้ใช้หุ่นยนต์ 100% ครับ เค้าก็จะมีรั้วกั้น ถ้ามีคนเข้าไปจะมีเซนเซอร์จับให้หยุดทำงาน ปลอดภัยมากๆ >> ต่อไปก็จะถึง Station ที่ส่งให้คนทำต่อ ก็จะมีการวางบล็อคที่จะใส่วัสดุฝัง บล็อคไฟ บล็อคท่อประปาต่างๆที่อยู่ในแผ่นผนังนั่นเอง >> ไปที่โรบอตยกเหล็กเส้นที่เชื่อมมาแล้วลงมาวาง (เป็นเหล็กที่สร้างความแข็งแรงนั่นแหละ) >> ถัดไปก็ส่งต่อให้คนนำท่อไฟ ท่อประปามาใส่ แล้วเช็คความถูกต้องละส่งต่อให้ QC >> ก่อนที่จะส่งไปเทคอนกรีต ซึ่งเครื่องเทคอนกรีต ก็คำนวณมาแล้วว่าต้องเทเท่าไหร่ต่อแผ่น มีความแม่นยำ ก็ลดการใช้ทรัพยากรได้ มีระบบเขย่าและสั่นเพื่อไล่ฟองอากาศครบครับ >> แล้วก็จะรอแห้ง 1 ชม. ก็ค่อยส่งต่อมาเอามาขัดผิว 3 ชม. แล้วเอามาเก็บในตู้บ่มอีก 7 ชม. เมื่อครบแล้วก็จะมีโรบอตเอาชิ้นงานออกมา ส่งต่อไปเอาแม่แบบที่เป็นเหล็กบล็อคออก แล้วส่งต่อ QC อีกที แล้วค่อยไปแพคเตรียมส่งออกครับ ส่วนโต๊ะที่ใช้วางแม่แบบผนัง ก็จะถูกส่งไปทำความสะอาดที่ Station แรก แล้วก็วนทำแบบนี้ไปเรื่อยๆนั่นเอง

พอจะเห็นภาพแล้วใช่มั้ยครับว่า Waste เพียง 2% เค้าทำได้ยังไง มาถึงหัวใจสำคัญที่ทำให้ของเสียมีน้อยมาก คือในกระบวนการทำปูน เมื่อเอาไปเทใช้แล้วจะยังมีปูนที่เหลือติดเครื่อง ซึ่งเค้ามีเครื่องแยกออกมาเป็นหินและทราย เพื่อเอาออกไปใช้ใหม่ได้ ส่วนน้ำและโคลนจากปูน เค้าก็เอาเข้าถังพัก เพื่อแยกตะกอน จะเหลือน้ำสะอาดที่สามารถเอาไปใช้ล้างเครื่องจักร ล้างพื้นที่ต่อได้ (ยังไม่ถึงขั้นเอาไปใช้อาบ ใช้รดน้ำต้นไม้ เพราะยังต้องมีกระบวนการเพิ่มเติมที่เค้ากำลังพัฒนาอีกครับ) จะมีแค่ตะกอนปูนที่เป็นผงโคลนใช้ต่อไม่ได้ ซึ่งถูกดูดออกไปทำให้เป็นก้อน ก็จะนำไปทิ้งง่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นส่วนน้อยมากๆนั่นเอง

ถือว่าประทับใจและเปิดโลกผมมากเลยครับ ไม่แปลกใจที่เค้าได้รับการรองรับ ISO9001 & ISO14001 ทั้งระบบบริหารงานและระบบจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นรายแรกของอสังหาในไทยเลย ซึ่งการจะมุ่งไปสู่พันธกิจหลัก Net-Zero ในปี 2050 จะทำได้จริงหรือไม่ ก็ต้องเข้มในกระบวนการแบบนี้แหละครับ

#LivingSneakPeek #SneakInfo #Sansiri #โรงงานPrecastแสนสิริ #ผนังพรีคาสท์