กว่า 105 ปี แห่งความทรงจำ ทิ้งทวน “สถานีหัวลำโพง”สู่ “สถานีกลางบางซื่อ” พฤศจิกายน นี้​

105 ปี สถานีหัวลำโพง“ปู๊น ปู๊นน..” ​

เสียงหวูดรถไฟที่เราคุ้นเคย เสมือนสัญญาณแห่งการเริ่มต้นใหม่สำหรับหลายชีวิตที่มุ่งมั่นเข้ามาตามหาความฝันในกรุงเทพ แต่สำหรับบางคน เสียงนี้ก็ชวนให้นึกถึงญาติพี่น้องที่บ้าน ก่อนเดินทางกลับไปเติมพลังให้หัวใจในยามเหนื่อยล้าจากเมืองหลวง ​

​นับล้านชีวิตที่ย่ำเท้าเข้ามา หรือก้าวกลับออกไป ล้วนมีความทรงจำ และความผูกพันกับภาพชีวิตที่เกิดขึ้นที่นี่ “สถานีหัวลำโพง”​

​เมื่อนึกถึงรถไฟ ผมเองก็นึกภาพตัวเองสมัยเด็กๆ ที่ได้ขึ้นรถไฟเป็นครั้งแรก เห็นภาพรอยยิ้มของตัวเองที่เอาหน้าไปรับลมจนผมตั้งชวนขำ นึกถึงไก่ย่างอร่อยๆ ที่มีพ่อค้าแม่ขายนำมาให้จับจ่ายถึงหน้าต่าง นึกถึงเสียงล้อเหล็กที่กระทบกับรางเป็นจังหวะดังฉึกฉัก ​

​และนึกถึงภาพทิวทัศน์ที่ผลัดเปลี่ยนสวยงาม ยามรถไฟแล่นออกสู่จุดหมายปลายทางที่ไกลออกจากกรุงเทพไปเรื่อยๆ…​

​แน่นอนว่าทุกสิ่งอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีตัวเลือกการเดินทางใหม่ๆ ที่สะดวกขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ผู้คนที่ใช้รถไฟรางก็ลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา สถานีรถไฟก็ต้องปรับตัวเพื่อให้รองรับการเชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวกกว่าเดิมอย่างรถไฟฟ้า ที่จะมีปริมาณคนมากขึ้น สถานีหัวลำโพงเอง หรือจะเรียกให้ถูกต้องว่า สถานีกรุงเทพ ก็ถึงขีดจำกัดที่จะต้องปลดระวาง เพื่อไปยังสถานีใหม่ “สถานีกลางบางซื่อ” ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้​

​สถานีกลางบางซื่อที่หลายคนได้เริ่มใช้งานจากการไปฉีดวัคซีนก่อนการเดินทางเสียอีกนั้น ถือเป็นฮับการคมนาคมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน เรียกได้ว่าเป็นที่สุดในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กว่า 487 ไร่ ใช้เวลาสร้างถึง 8 ปี ใช้งบประมาณมากกว่า 34,000 ล้านบาท มีถึง 24 ชานชาลา มีห้องน้ำให้บริการมากที่สุดกว่า 713 ห้อง และออกแบบให้เป็นสถานีปลอดมลพิษ เพราะรองรับเฉพาะรถไฟที่เป็นระบบไฟฟ้าเท่านั้น ​

​ที่สำคัญยังเชื่อมต่อการเดินทางได้ทั้งทางบก (ทางด่วน) ทางน้ำ (สถานีบางโพ – เรือด่วนเจ้าพระยา) และทางอากาศ (จุดจอดรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา)​

​ แน่ละครับว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เพื่อให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้า และเพื่อความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งมันก็คงจะถึงเวลาปลดระวางหนึ่งในสถานีที่สำคัญ และคลาสสิคที่สุดของไทยอย่างหัวลำโพงที่ยืนยงกว่า 105 ปีลงไป ​

​ก้าวต่อจากนี้ของสถานีหัวลำโพงจะปรับเปลี่ยนสู่การใช้งานพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ มีทั้งแหล่งธุรกิจ ร้านค้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาทัศนียภาพ และรักษาบางส่วนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ โดยไม่ทิ้งการเชื่อมต่อระบบคมนาคม ซึ่งเราคงจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนกันต่อไป​

​จากอดีตจนถึงปัจจุบัน การมีอยู่ของสถานีหัวลำโพง ​ ถือเป็นมุดหมายที่สำคัญหนึ่งในการพัฒนาบนหน้าประวัติศาสตร์ของไทย และยังเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความทรงจำล้ำค่า ที่จะยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจผู้คนที่ได้แวะเวียนมายังสถานที่แห่งนี้ตลอดไป..​

ขอบคุณข้อมูล:​

​https://www.prachachat.net/property/news-573627
https://www.khaosod.co.th/economics/news_6694294

อัพเดทเพิ่มเติมนะครับ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ยังคงใช้งานอยู่แต่ปรับลดลง เหลือรถไฟเข้ามาถึงนี่ 22 ขบวน จากราว 100 ขบวน เป็นรถชานเมืองสายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และสายตะวันออกบางขบวนครับ โดยจะใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีหลักแทน

ขอบคุณข้อมูลจากคุณ @wanwit niampan

#LivingSneakPeek #SneakLife​#สถานีหัวลำโพง #สถานีกลางบางซื่อ #รถไฟไทย