Work from Home อย่างไร ไม่ส่งผลร้ายต่อกระดูกและข้อ

ช่วงนี้หลายคนต้อง WFH อยู่บ้านกันเป็นเวลานาน เเน่นอนว่ามันก็ต้องมีบ้างที่เราจะใส่ชุดนอนนั่งทำคอม เอนตัวอยู่บนเตียงเขียนรายงาน ทำรีพอร์ตส่งหัวหน้า (ฮั่นเเหน่ ยอมรับกันมาสะดีๆ) ถึงเเม้ว่าการทำงานอยู่บ้านจะทำให้เรารู้สึกอิสระกว่าเข้าออฟฟิศ ​ เเต่ทราบหรือไม่ครับว่า อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เราเจ็บป่วยได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อนั่นเอง​

อาการทางสุขภาพที่เกิดจาก Work from Home ​

  1. ปวดหลังง่ายขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสำหรับการทำงาน เช่น ทำงานบนโต๊ะกินข้าวที่ปรับระดับเก้าอี้ไม่ได้ เบาะรองนั่งและพนักพิงไม่เหมาะกับการนั่งนานๆ ​ หรือนั่งทำงานกับพื้น ซึ่งเป็นท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะเอามากๆ ครับ เพราะจะทำให้ยิ่งปวดหลังมากขึ้น ​
  2. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า ไหล่ จากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ยิ่งเมื่อ Work from home ก็ต้องมีประชุมบ่อยขึ้นกว่าเดิมอีก​
  3. ปวดข้อมือ เอ็นอักเสบ นิ๊วล๊อค จากการใช้คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน​
  4. ไม่ได้ออกกำลังกาย เนื่องจากไม่ต้องออกจากบ้าน ร่างกายก็มีการขยับตัวน้อยลง กล้ามเนื้อไม่ได้รับการฝึกให้เกิดความแข็งแรง ส่งผลให้ปวดเมื่อยได้ง่ายขึ้น​
  5. อยู่แต่ในบ้าน ไม่เจอแสงสว่าง ไม่เจอแดด ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดดลดลง การสะสมแคลเซียมในร่างกายก็ลดลงตามไปด้วย​
  6. ดื่มชากาแฟบ่อยขึ้น ยิ่งทำงานคนเดียวมีความเครียด ยิ่งดื่มก็ยิ่งเพิ่มปริมาณคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้นอนไม่หลับ ใจสั่น กระตุ้นหัวใจ ทำให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมออกจากร่างกาย ​
  7. ความเครียดเพิ่มขึ้น ทั้งจากการทำงานคนเดียว ขาดสังคม เมื่อรวมกับวิตกกังวลเรื่องสถานการณ์การโควิดอีก ยิ่งทำให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อเกร็งปวดเมื่อยตามร่างกายได้ ​
  8. น้ำหนักขึ้น อันนี้ไม่รอด ผมนี่เเหละคนนึงครับ เพราะนอกจากตู้เย็นจะอยู่ใกล้ห้องทำงานเเล้ว ยังไม่อยากออกไปเสี่ยงภัยข้างนอก อาศัยสั่งอาหารเข้าบ้านอย่างเดียว วันๆ เลยเเทบไม่ได้ขยับตัวเลย สุดท้ายก็อาจส่งผลทั้งเรื่อง ความดัน ระดับน้ำตาล ระดับไขมัน กระดูกและข้อต่อก็ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น เกิดการปวดหลังปวดเข่า เป็นต้น ​

​การแก้ปัญหาจากการ Work from Home​

  1. ทำงานให้เป็นเวลา กำหนดเวลาการทำงาน และการพักผ่อนที่ชัดเจน เพื่อมีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น​
  2. ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงาน เช่น จัดที่นั่งบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ หาเก้าอี้นุ่ม ๆ มีพนักพิง ​
  3. รักษาความสูงของจอให้เหมาะสม โดยให้ขอบบนของจออยู่ใกล้ระดับสายตา ส่วนกลางจอควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 10-20 องศา หากใครใช้โน๊ตบุ๊คอาจใช้แท่นวาง เพื่อปรับความสูงของจอแทน​
  4. จัดเวลาให้มีการพักปรับอิริยาบทและยืดกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี ทั้งกล้ามเนื้อบริเวณ ศีรษะ คอ บ่า ไหล่ และหลัง​
  5. หาเวลาออกกำลังกาย เพื่อให้กระดูกและกล้ามเนื้อได้ขยับทำงาน และยังทำให้ความเครียดลดลงด้วย ถ้าออกกำลังกายกลางแจ้งก็จะได้รับวิตามินดีเพิ่มอีกด้วย​
  6. ตั้งเกณฑ์ควบคุมการทานขนม ของว่าง ชา กาแฟ ไม่ให้เยอะจนเกินไป กาแฟร้อนไม่ควรเกิน 2 แก้ว กาแฟเย็น ไม่ควรเกิน 1 แก้ว​

​จะเห็นเลยว่า การ Work From Home ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ จนเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ซึ่งผมก็เป็นคนนึงที่กระดูกเเละข้อไม่ดี เพราะนั่งทำงานนานๆ นี่เเหละครับ รู้อย่างนี้เเล้วก็ปรับพื้นที่นั่งทำงาน ปรับพฤติกรรมเวลาที่ต้องทำงานอยู่บ้านกันด้วย Work-Life Balance ให้ได้ เเล้วชีวิตจะเกิดสมดุลในทุกๆ ด้านครับ ​ ​

ต้องขอขอบคุณคำเเนะนำจาก นพ.ศรัณย์ ก่อวุฒิกุลรังษี แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนวเวช สำหรับบทความดีๆ ใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อ สามารถปรึกษาโรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 หรือ www.navavej.com​

#livingsneakpeek #sneakinfo ​#workfromhome #covid19

 

Visit Site