การกู้ร่วมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการซื้อบ้าน ไม่ว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติ และเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้น แต่ก็มีหลักเกณฑ์ที่เราควรรู้ก่อนหากอยากกู้ร่วมครับ ​

โดยคุณสมบัติหลักของผู้ที่กู้ร่วมกันจะต้องมีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด หรือเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก ญาติ หรือคู่สมรส ถ้าคนเป็นแฟนกันแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็มีช่องทางให้ยื่นกู้ด้วยนะครับ โดยการแสดงหลักฐานว่ามีงานหมั้น มีการแต่งงานกัน หรือมีใบลงบันทึกประจำว่าอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายพิจารณาการให้สินเชื่อของแต่ละธนาคารด้วยเหมือนกันครับ​

​การกู้ร่วมนั้นเพิ่มโอกาสในการมีบ้านในกรณีที่ผู้กู้หลักมีรายได้ไม่เพียงพอ เพราะจะช่วยเพิ่มฐานรายได้ เพิ่มความน่าเชื่อถือ ซึ่งก็จะเพิ่มความสามารถในการขอสินเชื่อในวงเงินที่สูงกว่าความสามารถของผู้กู้หลักคนเดียวได้ โดยกรรมสิทธิ์ในอสังหาฯ นั้น สามารถตกลงกันได้ว่าจะยกให้เป็นของผู้กู้คนใดคนหนึ่ง หรือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมก็ได้ ซึ่งก็ต้องคิดเผื่อไว้ในวันข้างหน้าด้วยนะครับ เพราะถ้าหากอยากจะขาย ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนครับ ​

ผลที่ตามมาจากการมีกรรมสิทธิ์ร่วม หากมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นคนใดคนหนึ่ง ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อทำการโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์แม้จะเป็นชื่อผู้กู้ร่วมครับ รวมถึงต้องหารเฉลี่ยดอกเบี้ยบ้านที่จะนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีให้กับผู้กู้ร่วมทุกคนเท่ากันด้วย และหากกู้ร่วมกับคนรักแล้วสุดท้ายถึงคราวเลิกกันก็ต้องมีการเจรจาตกลงกันให้เรียบร้อยครับ ไม่ว่าจะเรื่องของกรรมสิทธิ์ หรือเงินที่ผ่อนชำระไปแล้วเพื่อให้ยินยอมพร้อมใจทั้ง 2 ฝ่าย ถึงจะถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กรณี ครับ​

1. กรณีจดทะเบียนสมรส ต้องจดทะเบียนหย่าให้เรียบร้อย แล้วนำใบหย่าไปขอถอนชื่อผู้กู้ และทำสัญญาเงินกู้ใหม่ หากเป็นการกู้ร่วมหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว บ้านนั้นจะถือเป็นสินสมรส ซึ่งได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมจากกรมที่ดินครับ​

2. กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส ขึ้นอยู่กับการตกลงกันทั้งสองฝ่ายว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ใคร แล้วก็ไปทำเรื่องกับธนาคารได้เลย โดยมีค่าธรรมเนียมโอนเปลี่ยนชื่อประมาณ 5% ของราคาประเมินครับ​

มีบางกรณีเหมือนกันที่ธนาคารไม่อนุมัติถอนชื่อผู้กู้เพราะดูแล้วไม่สามารถชำระหนี้คนเดียวได้เพียงพอ เราก็ต้องไปหาผู้อื่นมากู้ร่วมแทน หรืออีกทางออกนึงคือการขอรีไฟแนนซ์จากกู้ร่วมเป็นกู้คนเดียวกับธนาคารใหม่ แต่ก็ต้องให้ผู้กู้ร่วมเดิมมาเซ็นยินยอมโอนกรรมสิทธิ์เมื่อขอรีไฟแนนซ์ผ่านแล้วด้วยเหมือนกันนะครับ ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยของเรากับคนเก่าให้ดีๆ เพื่อให้เค้ามาทำเรื่องให้เราได้ และทางออกสุดท้ายถ้าไปต่อไม่ไหวก็คือประกาศขายไป แต่ถ้าบ้านนั้นเป็นสินสมรส กำไรที่ได้จากการขายบ้านจะต้องแบ่งกันคนละครึ่งด้วยครับ ​

ทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคนที่สนใจการกู้ร่วมที่จะต้องคิดให้รอบคอบและมองถึงระยะยาว ถ้าหากมั่นใจแล้วเราก็สามารถใช้ประโยชน์จากการกู้ร่วมได้เหมือนกัน ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก DDproperty.com ด้วยครับ​

#LivingSneakPeek #กู้ร่วม​ #DDproperty