ตรวจรับห้องด้วยตัวเองต้องเตรียมตัวอย่างไร

ผมเชื่อว่ามีบางคนได้ค้นพบโอกาสจากวิกฤติของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือโอกาสในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในราคาคุ้มค่า เพราะเค้าลดราคา ทำโปรโมชั่นกันดุเดือด จนหลายคนได้มีจังหวะซื้อบ้านหรือคอนโดเป็นของตัวเองสักที

ตอนนี้… อาจจะมีคนที่เพิ่งโอนไป บางคนกำลังเตรียมย้ายของเข้าห้อง กำลังตกแต่ง เลือกซื้อหม้อทอดไร้น้ำมัน หรือ TV ลดราคาอย่างสนุกสนาน แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการเข้าอยู่อาศัย ทุกคนก็จะต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า “การตรวจรับห้อง” กันทั้งนั้น วันนี้ Living Sneak Peek มีข้อควรรู้และเทคนิคสำหรับมือใหม่ที่ต้องการตรวจรับห้องด้วยตัวเอง รวมไปถึงการเลือกใช้บริการจากผู้ตรวจห้องมืออาชีพมาฝากกันครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เราจะตรวจเพื่อรับมอบอสังหาริมทรัพย์ที่เราตั้งใจจะอยู่อาศัย ดังนั้น ความพอใจของเจ้าของห้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ เพราะเราต้องอาศัยอยู่ในห้องนี้อีกนาน ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และการใช้งานต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง และแน่นอนว่าต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ตามความเป็นจริง

การเตรียมตัว ก่อนจะเริ่มตรวจห้องจริง เราต้องเตรียมพร้อมทั้งข้อมูล และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งก็มีดังนี้ครับ

  • ข้อมูลเกี่ยวกับตัวห้อง เช่น รายละเอียดห้อง, แปลนห้อง, รายการเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เพื่อดูว่าห้องเราตรงกับแปลนและสิ่งที่โครงการนำเสนอไว้หรือไม่
  • อุปกรณ์การตรวจ : อุปกรณ์ไฟฟ้า (เช่น ที่ชาร์จโทรศัพท์), ถังน้ำ, เหรียญ, ขนมปัง (อันนี้ไม่ได้เผื่อกันหิว ดังนั้นอย่ากินหมดเสียก่อน), ไฟฉาย, สติ๊กเกอร์ทำสัญลักษณ์, กล้องถ่ายรูป
  • สมุด ปากกา : สำหรับจดข้อมูล
  • แต่งกายให้พร้อมสำหรับการตรวจ เพราะอาจจะมีการลุก นั่ง ปีนขึ้นลง
  • เวลาที่ควรเข้าตรวจสอบ : ควรเป็นช่วงที่มีแดดไม่ค่ำหรือดึกเกินไป เพื่อให้มีแสงสว่างชัดเจนเพียงพอ

จุดที่ต้องตรวจ มีอะไรบ้าง

1. โครงสร้าง : ตรงนี้เราสามารถดูได้คร่าวๆ ด้วยตาว่ามีรอยร้าวหรือไม่ รอยร้าวมีขนาดใหญ่แค่ไหน เกิดขึ้นตำแหน่งใด ทิศทางที่ร้าวจากจุดไหนไปจุดไหน แล้วอย่าลืมจดบันทึกข้อมูลพร้อมถ่ายรูปเก็บไว้ เพื่อนำไปถามผู้เชี่ยวชาญต่อไปครับ

3. กระเบื้อง : สิ่งสำคัญคือต้องไม่เป็นโพรง วิธีสังเกตคือใช้เหรียญเคาะตามกระเบื้อง ต้องแน่น ไม่มีเสียงแหลม กลวง เพราะไม่อย่างนั้นเวลาใช้งานจริง เกิดแตกหรือชำรุดขึ้นมา อาจทำให้เกิดอันตรายได้ครับ กระเบื้องไม่มีรอยบิ่น สีไม่เพี้ยน ถ้าอยู่ในห้องน้ำระดับพื้นต้องลาดเอียงให้น้ำไหลลงท่อทั้งหมด

4. ผนัง : ก่ออิฐมอญ/ อิฐมวลเบา/ Precast/ หล่อในที่ มีความแตกต่างกัน ต้องไม่ดิ่ง ฉาก ไม่มีรอยร้าว รอยตำหนิ สีไม่ด่าง ถ้าปูวอลเปเปอร์ต้องไม่ขาด หลุดร่อน หรือมีรอยตัดแปะ

5. ฝ้า : ต้องได้ระดับ ไม่แอ่น ไม่ตกท้องช้าง สีไม่ด่าง ไม่มีรอยร้าว หรือคราบด่างชื้นจากรอยรั่วซึม

6. ระบบน้ำและสุขาภิบาล : ให้ลองเปิดน้ำทุกจุดว่าสามารถใช้งานได้ น้ำไหลแรง ไม่มีรอยรั่วซึม เช็คให้ครบตามการใช้งานจุดต่างๆ ว่าติดตั้งแน่น สุขภัณฑ์และฉากกั้นอาบน้ำไม่รั่วซึม การระบายน้ำทุกจุดรวดเร็วไม่มีน้ำขัง ที่พื้นต้องไม่มีน้ำขัง ชักโครกกดแล้วต้องไม่มีฟองย้อน อาจใช้ขนมปังทดสอบแทนอุจจาระเพื่อทดสอบการกำจัดของเสียได้ครับ (ทีนี้รู้แล้วนะว่าทำไมถึงให้เตรียมขนมปังมาด้วย)

7. ระบบไฟฟ้า : อาจจะเป็นเรื่องที่ตรวจยากที่สุดสำหรับคนทั่วไปที่ซื้อคอนโด หรือมือใหม่ที่ตรวจห้องเองอย่างเราๆ ครับ เพราะต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทางในการตรวจและต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้นเบื้องต้นเลย ให้ลองปิดไฟในห้องทุกจุดแล้วดูที่มิเตอร์ไฟฟ้านอกห้องว่าหมุนหรือเปล่า ถ้าหมุนอาจมีการรั่วไหลของไฟได้ครับ ต่อมาเปิดสวิตช์ไฟทุกดวงว่าติดไหม มีเสียงดังไหม (ในการตรวจสอบต้องระวังการรั่วไหลของไฟมาที่บริภัณฑ์ไฟฟ้าด้วย) ต่อมาเต้ารับไฟ นำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาลองชาร์จดูว่าไฟเข้าหรือไม่ ใช้งานสะดวกหรือเปล่า ส่วนแอร์ก็เปิดทิ้งไว้ได้เลยเพื่อดูการรั่วของแอร์ ดูความเย็น และเสียงว่าดังกว่าปกติหรือไม่ (ควรเปิดทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที)

สรุปข้อดีและข้อจำกัดในการตรวจห้องด้วยตนเอง

ข้อดี : ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถตรวจได้นานเท่าที่เราพอใจ

ข้อเสีย : อาจตรวจได้ไม่ทั่วถึง เช่น ระบบไฟฟ้า รวมถึงขาดประสบการณ์และความชำนาญในการตรวจสอบ

ตรวจรับห้องกับมืออาชีพมีขั้นตอนอย่างไร

การจ้างตรวจรับห้องต้องเลือกบริษัทที่เชื่อถือได้ มีประสบการณ์การตรวจโดยดูจากผลงานเก่าๆ ที่ผ่านมา หรือการแนะนำจากคนที่เคยใช้บริการครับ เมื่อได้บริษัทที่ต้องการแล้ว ก็ติดต่อนัดหมายเพื่อเข้าตรวจสอบ โดยปกติจะตรวจสอบ 2 ครั้ง ในครั้งแรกทีมงานจะเข้ามาตรวจสอบ และหลังจากนั้นจะจัดทำรายงานผลการตรวจเพื่อส่งให้วิศวกรโครงการแก้ไขต่อไป เมื่อโครงการแก้ไขแล้วเสร็จจึงนัดทีมเข้ามาตรวจรอบสอง โดยส่วนใหญ่บริษัทที่ดีและน่าเชื่อถือเค้าก็จะช่วยดันให้จบภายในครั้งที่สองแหละครับ เผื่อไม่ให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่าย ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจก็ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆ ราคาอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์และประสบการณ์ของผู้ตรวจ ส่วนใหญ่คอนโดฯ จะราคาประมาณ 1,500-6,000 บาท และบ้านตั้งแต่ 4,000-20,000 บาทครับ